กระต่ายท้องลม และวิธีดูแล
อาการท้องลมของกระต่าย คนที่เริ่มหัดเลี้ยงกระต่าย อาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า “กระต่ายท้องลม” ส่วนอาการท้องลมของกระต่ายเกิดจากอะไร อาการท้องลมส่งผลต่อสุขภาพของกระต่ายหรือไม่ และมีวิธีดูแลอย่างไร สำหรับคำถามเหล่านี้ บทความนี้มีคำตอบและมีคำแนะนำดีๆ มาฝาก ครับ
กระต่ายท้องลม คืออะไร
อาการกระต่ายท้องลม หมายถึง การที่แม่กระต่ายคิดว่าตัวเองตั้งท้อง และจะมีลักษณะอาการเหมือนกระต่ายที่อยู่ในช่วงตั้งท้องทุกอย่าง แต่ระยะเวลาสั้น คือจะตั้งท้องเทียมอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 18 วัน หลังจากนั้นกระต่ายจะเริ่มกัดขน เหมือนจะคลอด
สาเหตุของการท้องลม
การที่กระต่ายมีอาการท้องลม อาจเกิดจากการที่ผู้เลี้ยงขังแม่กระต่ายไว้รวมกัน หรือเกิดจากการผสมพันธุ์แล้วไม่ติด ทำให้แม่กระต่ายคิดว่าตัวเองตั้งท้อง สำหรับแม่กระต่ายที่มีอาการท้องลม หากผู้เลี้ยงต้องการเพาะพันธุ์หรือต้องการลูกกระต่าย ก็สามารถทำการผสมพันธุ์แม่กระต่ายได้ หลังจากที่แม่กระต่ายกัดขนตัวเองเหมือนจะคลอด
ลักษณะอาการของกระต่ายท้องลม
กระต่ายตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์อาจจะเกิดการท้องลมขึ้นได้ ซึ่งการท้องลมจะมีอาการเหมือนกับกระต่ายที่กำลังตั้งท้องทุกอย่าง เช่น กินน้ำกินอาหารได้มากขึ้น นอนมากกว่าปกติ ไม่ค่อยวิ่งซน และเมื่อท้องลมได้ประมาณ 18 วัน ซึ่งอายุการท้องลมจะสั้น กระต่ายจะเริ่มกัดขน และเริ่มทำรังด้วยการนำวัสดุที่อยู่รอบๆตัวมาทำให้รังมีความอบอุ่นเพื่อเตรียมคลอดลูก
ผลกระทบเมื่อกระต่ายมีอาการท้องลม
อาการท้องลมเป็นเรื่องธรรมชาติของกระต่ายเพศเมียที่เมื่อติดสัดแล้วไม่ได้รับการผสมจริง และอาการท้องลมจะเป็นอยู่ในระยะสั้นๆ ผู้เลี้ยงที่ไม่เข้าใจลักษณะอาการและพฤติกรรมของกระต่ายในช่วงท้องลม อาจทำให้วิตกกังวลเพราะคิดว่ากระต่ายป่วย เนื่องจากช่วงท้องลมกระต่ายจะมีอาการหงุดหงิด บางตัวอาจกินอาหารได้น้อยลง กัดขนตัวเองและชอบคาบหญ้าและหายไปเป็นระยะๆ
สำหรับผลกระทบยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ว่ากระต่ายที่มีอาการท้องลมบ่อยๆจะส่งผลกระทบในด้านใดบ้าง เช่น กระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของกระต่าย ทำให้กระต่ายเป็นหมันหรือมีลูกยาก
การดูแลกระต่ายท้องลม
กระต่ายท้องลมเพราะคิดว่าตัวเองตั้งท้อง กระต่ายอาจมีความเครียดกังวลร่วมด้วย การดูแล ควรลดความเครียดความกังวลของแม่กระต่ายด้วยการให้กินอาหารดีๆ เพิ่มผักและวิตามิน รวมทั้งอาหารอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของกระต่าย
การจะทราบว่ากระต่ายท้องลมหรือไม่ ผู้เลี้ยงต้องหมั่นศึกษาพฤติกรรมและเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เมื่อกระต่ายพร้อมที่จะผสมพันธุ์ลักษณะนิสัยจะเริ่มเปลี่ยนไป ส่วนการท้องลมสามารเกิดขึ้นได้กับแม่กระต่าย ถึงแม้จะผ่านการมีลูกมาแล้วก็มีโอกาสท้องลมได้เช่นเดียวกัน